ตั้งครรภ์อยู่..ฉีดวัคซีน COVID ดีไหม.??


วันนี้มีการระบาดของโคโรน่าไวรัส COVID19  ซึ่งมันก็จะสามารถระบาดไปได้ถึงคนทุกคน ไม่ว่าเด็ก คนสูงอายุ คนหนุ่มสาว รวมถึงคนท้อง   ที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นมีใครเขียนหรืออธิบายให้ว่าที่คุณแม่ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ...  ถ้าเป็นโควิดขึ้นมาจะเป็นอะไรเยอะมั๊ย ...  อีกทั้งคำถามที่ถามกันเยอะมากในตอนนี้ก็คือ  “ตั้งครรภ์อยู่สามารถฉีดวัคซีนได้มั๊ย...??”  

เริ่มต้นต้องมารู้จักเจ้าเชื้อโรคตัวร้ายตัวนี้กันก่อน  ... เอาสั้นๆพอเพราะคงอ่านกันมาเยอะแล้วนะ 

อย่างแรกที่เราเรียกกันว่า COVID19 มันเป็นแค่ชื่อเล่นของไวรัสตัวนี้ ชื่อจริงอย่างเป็นทางการคือ SARS-CoV-2 เป็นไวรัสชนิด RNA Virus หน้าตาเป็นเม็ดกลมๆ มีปุ่มแหลมๆ ดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะคล้ายมงกุฎ ระยะฟักตัวประมาณ 2-14วัน  ระบาดครั้งแรกที่เมืองอู๋ฮั่นประเทศจีน  เมื่อปลายปี 2019 หลังจากนั้นก็ระบาดต่อไปทั่วโลก  ระบาดไปก็กลายพันธุ์ไป  ยิ่งกลายพันธุ์ก็ยิ่งระบาดง่ายขึ้น  ติดง่ายขึ้น  อาการมากขึ้น  ตายมากขึ้น 

จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีวี่แววว่ามนุษย์เราจะควบคุมโรคนี้ได้เลย ... !!

ทางรอดของมนุษย์เห็นจะมีอยู่ทางเดียวครับ ก็คือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน ให้กับมนุษย์โลกเราให้มากที่สุด 

หนทางที่จะทำให้เรามีภูมิต้านทานก็คือ การฉีดวัคซีนนั่นเองครับ 

เมื่อเริ่มมีการระบาด บริษัทยา สถาบันการแพทย์ต่างๆก็ระดมกันค้นคว้าวิจัยกันมากมายหลายที่   แต่ที่ประสบความสำเร็จและพัฒนาจนสามารถนำมาใช้จริงก็มีไม่กี่ชนิด ... 

ปกติแล้วการวิจัย การพัฒนา การผลิต การตรวจสอบผลข้างเคียงของวัคซีนแต่ละชนิดที่ผ่านมา ก็จะใช้เวลากันนานนับสิบปี 

แต่ครั้งนี้มันไม่ใช่ ... มันเป็นการระบาดใหญ่ ระบาดหนัก และเจ็บป่วยล้มตายกันมากกว่าสงครามโลกครั้งไหนๆเสียอีก ... ทำให้วัคซีนแต่ละตัวต้องผลิตออกมาอย่างเร่งด่วน ใช้เวลาวิจัย พัฒนา ผลิตในเวลาไม่ถึงปี การทดสอบในเรื่องภาวะแทรกซ้อนทั้งในระยะสั้น และระยะยาวจึงยังมีจำกัด  แต่มันก็ไม่มีทางเลือก เอาเป็นว่าฉีดกันไป วิจัยกันไป ทดสอบกันไปพร้อมๆกันเลย 

วัคซีนหลักๆที่ใช้กันในโลกตอนนี้ อธิบายให้เข้าใจกันง่ายๆนะครับ 


Sinovac  เป็นวัคซีนเชื้อตาย  ผลิตโดยเทคโนโลยี่เก่าแก่ตั้งแต่สมัยหลุยส์ ปาสเตอร์ คือ เพาะเลี้ยงเชื้อจำนวนมาก ปัจจุบันก็จะใช้ไข่ไก่เป็มีเดียในการเพาะเลี้ยง เอาเชื้อที่เพาะเลี้ยงได้มาทำให้ตายซะโดยวิธีการทางเคมี แล้วจึงนำมาผลิตวัคซีน  

ข้อดีคือดูจากกรรมวิธีแล้วน่าจะปลอดภัย เพราะใช้วิธีดั้งเดิมเหมือนกันกับที่ทำวัคซีนที่เราฉีดกันมาเป็นสิบๆปี ก่อนหน้านี้

ข้อเสียคือ การเพาะเลี้ยงไวรัสจำนวนมากๆเป็นโรงงานขนาดนี้ก็ต้องควบคุมกันหนักหนาสาหัส รั่วขึ้นมาอาจจะตายกันทั้งประเทศ  อีกทั้งยังต้องใช้ไข่ไก่ตาดำๆอีกเป็นจำนวนมาก ค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิตจึงสูง  ดูตามตารางแล้วจะเห็นว่าประสิทธิภาพอาจจะต่ำแถมราคาแพงกว่ายี่ห้ออื่นๆอีก 

ภาวะแทรกซ้อนที่พบในประเทศไทย หลังการฉีดในช่วงแรกๆ ก็คืออาการ Stroke-liked คือเหมือนจะมีอาการเหมือนสมองขาดเลือด แรกๆก็ตกใจ เอาไปเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เอาไปฉีดสีเส้นเลือดสมอง สรุปว่าไม่พบความผิดปกติอะไรเลยแม้แต่รายเดียว แถมอยู่ๆก็หายเองได้ใน 1-2 วัน 

เอาเป็นว่าฉีดแล้วยังไม่มีใครตายซักคนก็แล้วกัน


Astra Zeneca  ก็เป็นวัคซีนที่ใช้วิธีผลิตที่ทันสมัยขึ้นมาหน่อย คือใช้ชิ้นส่วนของไวรัส COVID19 ไปแปะไว้บนไวรัสของลิงชิมแปนซี แล้วทำให้อ่อนฤทธิ์ลง แบ่งตัวไม่ได้ แล้วเอามาผลิตเป็นวัคซีน   

ว่ากันง่ายๆก็คือ เอาไวรัสมาตัดแขนตัดขา จับทำหมัน เหลือแต่ตัวเป็นๆดิ้นด๊อกแด๊ก เอามาทำวัคซีน ก็ดูจะมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายได้มากกว่าวัคซีนเชื้อตาย 

แต่ก็มีรายงานภาวะแทรกซ้อนของวัคซีนนี้มาเรื่อยๆ โดนเฉพาะการทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน อย่างไรก็ตาม โอกาศเกิดลิ่มเลือดอุดตันนี้เท่าที่รวบรวมทั่วโลก ก็แค่ประมาณ 7 ในล้านเท่านั้นเอง  แล้วโรคลิ่มเลือดอุดตันนี้ปกติแล้วก็พบในฝรั่งมากกว่าคนไทยอีกด้วยนะ  .. เอาเป็นว่าตั้งแต่ระดมฉีดวัคซีน Astrea Zeneca ในไทยก็ยังไม่มีพบรายงานภาวะลิ่มเลือดอุดตันเลย 


Pfizer และ Moderna  เป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี่ใหม่ล่าสุด ใช้ mRNA ที่เป็นตัวสร้างหนามแหลมของไวรัส นำมาผลิตเป็นวัคซีน เทคนิคนี้ทำให้ผลิตได้ง่าย  ทำได้เยอะ  ราคาไม่แพง แต่ก็มีโอกาสเกิดอาการแพ้ อาการเหมือนการแพ้ยา ปากบวม หน้าบวม ได้ประมาณ 4.7 ในล้าน ไม่เยอะเลย แต่ก็ไม่ใช่ไม่มี


แล้วในสถานการณ์ปัจจุบัน จะฉีดวัคซีนดี หรือไม่ฉีดดีล่ะย

ก็ต้องถามว่ากลัวอะไรล่ะ

กลัว มือชา เท้าชา กลัวลิ่มเลือดอุดตัน 

กลัวติดโควิด กลัวเอาเชื้อไปแพร่ให้ญาติพี่น้อง กลัวหาที่รับรักษาไม่ได้ กลัวโควิดลงปอดแล้วหายใจยังไงมันก็ยังเหนื่อย ... ทรมานมาก

สุดท้าย...กลัวตาย.


คิดแค่นี้แหละว่ากลัวอะไร.....

ฉีดวัคซีนไปอย่างมากก็ชามือ ชาปาก แต่ละรายตรวจก็ไม่พบรอยโรคอะไร 2-3วันก็หาย

หรือหากกลัวเรื่องลิ่มเลือดอุดตัน ก็เกิดขึ้นแค่ 7 ในล้าน เท่านั้น คนเอเชียเป็นน้อยกว่าฝรั่งเยอะ แล้วยังไม่พบรายงานเรื่องนี้ในประเทศไทยเลย

ถ้าไม่ฉีดล่ะ ... น่ากลัวมั๊ย

ก็ระบาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มีระลอก3 ระลอก4  .... แล้วจะมีตามมาอีกกี่ระลอก

แต่ละระลอกจำนวนผู้ติดเชื้อก็มากขึ้นเรื่อยๆ จนต้องเปิดโรงพยาบาลสนามกันมากมายหลายที่  

เด๋วก็ระบาดคลัสเตอร์ตรงนั้น เด๋วก็ระบาดชุมชนตรงนี้ .... แล้ววันนึงมันจะวนมาถึงเรามั๊ย

คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับบุญกรรมที่ทำกันมาแล้วครับ...


เมื่อผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ ระบบที่สามารถรองรับได้มันก็จำกัด ดังนั้นเมื่อติดเชื้อโควิดไม่ใช่ว่าจะสามารถหาที่ไปรักษาได้ง่ายๆ  แล้วติดเชื้อแล้วมันก็ไม่ได้เป็นนิดๆหน่อยๆทุกคน  บางส่วนมีอาการน้อย แต่ก็มีถึง 30%ที่มีอาการหนัก  บางส่วนต้องเข้าไอซียู  บางคนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ บอกก่อนนะว่ามันทรมานมาก ทรมานกว่าการหายใจไม่อิ่ม  มันที่สุดของการหายใจไม่อิ่มเลยล่ะ ... แล้วคนที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 1ใน 4 จะเสียชีวิต

แล้วเสียชีวิตก็ไม่ใช่น้อย ตอนที่เขียนนี่ พค.64 ติดเชื้อวันละประมาณ 2000 เสียชีวิตวันละ 20-30 .... ไม่ใช่น้อยเลยนะ

ยิ่งติดเชื้อต่อวันมากขึ้น จำนวนผู้เสียชีวิตก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เพราะบางทีมันก็เกินกำลังของระบบที่จะรองรับได้

ตรองดูให้เข้าใจว่า สุดท้ายของชีวิตตอนนี้ "ที่เราเลือกได้" ... เรากลัวอะไร


เราควรจะฉีด หรือไม่ฉีดวัคซีนดี

การร่วมกันฉีดวัคซีนในวันนี้เป็นอาวุธอันเดียวที่จะทำให้เราสามารถต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโควิดนี้ได้ .... มาช่วยกันกอบกู้โลกกันเถอะ (อันนี้พูดเลียนแบบหนังฮอลลิวู๊ด)


คราวนี้มาพูดถึงเรื่องของคนท้องกันบ้าง

ถ้าตั้งครรภ์อยู่แล้วติดโควิดขึ้นมาจะเป็นยังไงบ้าง

คำถามเดิม ... เรากลัวอะไร

กลัววัคซีนนี้จะไปมีผลต่อทารกในครรภ์ .... อันนี้ก็จริงเพราะยังไม่เคยมีการวิจัย เก็บข้อมูลระยะยาวอะไรมาก่อนเลย ฉีดไปแล้วใครจะรับรองว่ามันจะไม่มีปัญหา

แล้วถ้าเคราะห์หามยามร้ายเกิดติดโควิดขึ้นมาล่ะ

ก่อนอื่นก็จต้องเข้าใจก่อนนะว่า ทารกในครรภ์ไม่ได้หายใจเอง แต่รกจะทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซระหว่างกระแสเลือดลูกกับกระแสเลือดแม่ ... แปลว่าปอดแม่อันเดียวใช้กันสองคน  แล้วตอนท้องเมื่อท้องโตขึ้นเรื่อยๆ มดลูกก็จะเบียดกินเนื้อที่ทำให้ปอดเล็กลงเรื่อยๆ ทำอะไรมากมันก็จะเหนื่อยมาก เพราะปอดเหลือปริมาตรนิดเดียว

คิดง่ายๆ คนท้องก็เหมือนคนอ้วน...ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรงได้

ทีนี้หากติดเชื้อโควิค มันก็จะทำให้มีปอดอักเสบตามมา  ปอดที่เล็กลงอยู่แล้วในคนท้องก็จะยิ่งทำให้มีอาการเหนื่อยจากปอดอักเสบมากกว่าคนปกติ  อาจจำเป็นต้องเข้าไอซียู ใช้เครื่องช่วยหายใจเร็วกว่าคนปกติ


แล้วผลกับลูกในครรภ์ล่ะ

จากตอนแรกที่กลัวลูกจะได้ผลจากวัคซีนไปด้วย  คราวนี้หากเป็นโควิดแล้ว แม่จะต้องได้รับยาอะไรต่อมิอะไร เยอะแยะมากมาย โดยระหว่างการรักษาโควิดในระยะวิกฤต จะคำนึงถึงการรักษาชีวิตแม่มากกว่าลูก แต่ก็โชคดีที่ยังไม่มีรายงานผลกระทบต่อทารกในครรภ์ชัดเจน

การขาดออกซิเจนจากความเสียหายของปอดของแม่จากโควิด  จะทำให้เกิดการขาดออกซิเจนค่อนข้างเฉียบพลัน ... แต่ก็โชคดีที่มักไม่มากพอจนทำให้ทารกในครรภ์ขาดออกซิเจน    แล้วการขาดออกซิเจนที่เกืดจากโควิดมักไม่ยาวนานเรื้อรังจนทำให้เกิดภาวะเติบโตช้าในครรภ์ จะอยู่จะรอด ก็ใน7-14วันนี้แหละ  การที่แม่ติดโควิดจะมีผลชัดเจนก็ตอนคลอดนี้แหละ  ระหว่างการคลอดมดลูกมีการบีบตัว ระหว่างการบีบตัวเลือดจะไปเลี้ยงทารกในครรภ์น้อยลง ทำให้เกิดการขาดออกซิเจนได้ง่าย  ยิ่งปอดแม่ไม่ดี ออกซิเจนในกระแสเลือดยิ่งน้อย ก็จะยิ่งทำให้เกิดภาวะการขาดออกซิเจนในระหว่างการคลอดได้ง่ายที่สุด


ดูแล้ว หากตั้งครรภ์แล้วติดโควิด ชีวิตเปลี่ยนเลยนะครับ

หากมีโอกาสเลือกได้ .. แนะนำให้ฉีดวัคซีนเลยนะครับ

วัคซีนถึงแม้ว่าป้องกันการติดโรคได้ไม่ร้อยเปอร์เซนต์ แต่ก็ป้องกันอาการรุนแรง ป้องกันการเสียชีวิตได้เกือบร้อยเปอร์เซนต์

เนื่องจากวัคซีนโควิดเป็นวัคซีนตัวใหม่ ยังไม่มีข้อมูล ยังไม่มีรายงาน แต่ในแง่ของกระบวนการผลิตเทียบเคียงกับวัคซีนเก่าๆแล้ว ก็ไม่น่าจะมีอันตรายอะไร  ดังนั้นในอังกฤษจึงประกาศให้สามารถฉีดวัคซีนได้ในสตรีตั้งครรภ์ และให้นมบุตร

สำหรับในประเทศไทย กรมควบคุมโรคติดต่อ และ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยก็เห็นควรให้ฉีดวัคซีนได้ในสตรีตั้งครรภ์ อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์เป็นต้นไป และคุณแม่ที่ให้นมบุตร


เรามาช่วยประเทศไทย เรามาช่วยโลก เรามาช่วยตัวเราเอง ให้รอดจากโควิทด้วยการฉีดวัคซีนกันเถอะครับ


อย่าลืมอ่าน ตรงนี้ด้วยนะ ตั้งครรภ์ ในสถานการณ์การระบาดของ COVID19


ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม