คู่มือการฝากครรภ์ และเตรียมคลอด

 

เมื่อคุณแม่ฝากครรภ์กันเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมอ่านบทนี้ให้เข้าใจนะครับ.... 

 

....และแล้วพยานรักตัวน้อยก็เกิดขึ้น เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต ทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ ความรู้สึกถึงความเป็นแม่ก็เกิดขึ้นทันที มันยากที่จะอธิบายถึงความรู้สึกที่มีชีวิตน้อย ๆ อีกชีวิตหนึ่งเติบโตขึ้นมาภายในร่างกายของเรา สัญชาตญาณของความเป็นแม่ จะก่อให้เกิดความผูกพัน เฝ้าดู และทะนุถนอมให้ลูกได้เติบโตขึ้นมาอย่างปลอดภัย เพื่อที่จะได้เกิดมาเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัวที่ทุกคนภูมิใจ

ในระหว่างที่ตั้งครรภ์คุณแม่ก็ควรเตรียมพร้อมสำหรับลูกที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า เตรียมพร้อมสำหรับสุขภาพของคุณแม่เอง  เพื่อสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย 

 

การฝากครรภ์การเริ่มต้นที่ดีสำหรับลูกน้อย 

ในสมัยก่อน ก่อนที่จะมีการแพทย์สมัยใหม่ดังเช่นในปัจจุบันนี้  การคลอดก็มักจะคลอดกันที่บ้าน โดยมีหมอตำแยไปทำคลอดให้ถึงบ้าน หมอตำแยในสมัยก่อนก็คล้ายๆ กันกับสูตินรีแพทย์ในสมัยนี้แหละครับ ซึ่งพอรู้ว่ามีการตั้งครรภ์ขึ้น พ่อแม่ก็มักจะพาไปรู้จักไปฝากฝังกันไว้ก่อน หลังจากนั้นหมอตำแยก็จะแวะไปเยี่ยมไปหาดูอาการอยู่เรื่อย ๆ คอยตรวจตราเจียดยาต้มยา คัดท้อง นำหัว เพื่อเตรียมตัวคลอด นั่นก็คือการตรวจฝากครรภ์ในสมัยโบราณ แต่ในปัจจุบันคุณหมอคงไปเยี่ยมตามบ้านแบบสมัยก่อนไม่ได้แล้ว เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์มีเยอะแยะมากมายกว่าแต่ก่อนมาก 

การฝากครรภ์มีความสำคัญสำหรับคุณแม่มาก ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่ของคุณแม่จะสามารถตั้งครรภ์ และผ่านการคลอดไปได้อย่างปลอดภัย แต่ก็มีบางส่วนที่อาจมีภาวะแทรกซ้อน และจำเป็นต้องรับการดูแลรักษากันอย่างใกล้ชิด การฝากครรภ์จะช่วยทำให้คุณหมอสามารถตรวจพบถึงสิ่งผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ รวมทั้งให้การดูแลรักษา ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ 

 

เริ่มฝากครรภ์เมื่อไรดี ! 

คุณแม่ควรเริ่มฝากครรภ์ทันทีเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ เพื่อว่าจะได้ตรวจดูสุขภาพของคุณแม่เองว่ามีโรคอะไรที่อาจจะมีผลต่อลูกได้ เพื่อที่จะได้ทำการรักษาก่อนที่จะสายเกินไป

หากฝากครรภ์ช้าเกินไป อาจจะทำให้คุณแม่ที่ภาวะท้องลม ภาวะเสี่ยงต่อการแท้งต่างๆ หรือการตั้งครรภ์นอกมดลูก ได้รับการรักษาช้าเกินไป อันอาจจะเป็นอันตรายต่อตัวคุณแม่เองได้นะครับ 



ฝากครรภ์ครั้งแรก 

เมื่อคุณแม่ไปฝากครรภ์ คงตื่นเต้นบ้างสำหรับการเจอกันครั้งแรก คุณหมอจะถามประวัติความเป็นไปเป็นมาของคุณแม่หลาย ๆ อย่าง เช่น … 

ประวัติเกี่ยวกับโรคทางกรรมพันธุ์ในครอบครัว เพราะโรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเลือด สามารถปรากฏอาการแทรกซ้อนในระหว่างที่ตั้งครรภ์ได้ 

ประวัติความเจ็บป่วยในอดีต ประวัติโรคประจำตัวเพราะโรคบางอย่างอาจมีผลต่อการตั้งครรภ์ หรือ การตั้งครรภ์ก็อาจมีผลต่อโรคที่เป็นอยู่ก็ได้ ที่สำคัญในรายที่รับประทานยาบางอย่างอยู่เป็นประจำต้องดูด้วยว่ามีผลต่อลูกในครรภ์หรือไม่ บางครั้งอาจต้องปรับเปลี่ยนชนิด หรือ ปริมาณยาไปตามความเหมาะสมด้วย 

ประวัติประจำเดือน และ การคุมกำเนิดคุณหมอจะถามเรื่องของประจำเดือนว่า มาตรงดีมั๊ย เลื่อนออกหรือเลื่อนเข้ากี่วัน ที่สำคัญที่สุดก็คือ ..วันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายมาวันไหน เพื่อใช้ในการคำนวณหาอายุครรภ์ และกำหนดคลอด 

ประวัติการคลอดในครรภ์ก่อนในรายที่เป็นคุณแม่ที่เคยมีลูกมาก่อนแล้วคุณหมดก็จะถามถึงการตั้งครรภ์และการคลอดในครั้งก่อนๆว่าคลอดยังไง ผ่าหรือคลอดเอง คลอดยากมั๊ย ตัวโตมากมั๊ย หนักเท่าไร มีภาวะแทรกซ้อนอะไรหรือเปล่า เพื่อใช้วางแผนในการดูแลครรภ์ครั้งนี้ประกอบด้วย 

 

กำหนดคลอด 

คุณแม่ควรจำประจำเดือนครั้งสุดท้ายให้แม่นนะครับ เพราะมันมีความสำคัญในการคำนวณอายุครรภ์นั่นเอง ถ้าหากคุณแม่จำผิด ก็อาจทำให้เกิดความสับสน ในการคำนวณอายุครรภ์ คำนวนวันคลอดผิดไปได้ 

การคำนวณวันคลอดไม่ยากหรอกครับใช้วันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายเป็นหลัก แล้วบวกไปข้างหน้า 7 วัน นับย้อนกลับไป 3 เดือนก็จะได้กำหนดคลอด สมมติว่าประจำเดือนมาวันแรกของครั้งสุดท้ายมาวันที่ 15 มิถุนายน นับบวกไป 7 วัน ก็คือวันที่ 22 นับย้อนหลังกลับมา 3 เดือน ก็เป็นเดือนมีนาคม ดังนั้นก็จะครบกำหนดคลอดในวันที่ 22 มีนาคม ของปีถัดไป ซึ่งถ้านับรวมแล้วจะได้ 280 วัน หรือ 40 สัปดาห์พอดี ... ง่ายมั๊ย 

ปกติแล้วที่เราเคยรู้ ๆ กันว่าครบกำหนดคลอดก็คือ 9 เดือน ซึ่งเป็นการนับแบบ นับไทยคือ เริ่มนับกันตั้งแต่ประจำเดือนขาด ขาดมา 1 เดือน ขาด 2 เดือนจนครบคลอดจะนับ ขาด 9 เดือน 

แต่ที่คุณหมอนับครบคลอด 40 สัปดาห์ หรือ 10 เดือน จะเริ่มนับกันตั้งแต่ที่ประจำเดือนมาวันแรกของครั้งสุดท้าย แทนที่จะนับกันตั้งแต่ประจำเดือนขาด เป็นการนับ นับฝรั่งเหมือนกับการนับแบบ นับจีนซึ่งจะมากกว่านับไทย 1 เดือน

ก็คือเริ่มนับในวันแรก กับวันขาด เริ่มไม่เหมือนกัน แต่นับยังไงก็คลอดวันเดียวกันนะครับ

 

แล้วตรวจอะไรกันบ้างละ 

หลังจากได้พูดคุยทราบประวันกันบ้างแล้ว คุณแม่ก็จะได้รับการตรวจร่างกายโดยละเอียด คุณแม่ที่มีปัญหาหัวนมบอด ซึ่งทำให้ลูกไม่สามารถกินนมแม่ได้ถนัด ก็จะได้รับการดูแลแก้ไข เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 

ต่อมาก็จะตรวจในส่วนของการตั้งครรภ์ ดูว่าตั้งครรภ์ในตำแหน่งปกติหรือเปล่า มีตัวอ่อนในครรภ์มั๊ย ขนาดของตัวอ่อนในครรภ์เป็นปกติมั๊ย หัวใจเต้นดีมั๊ย

หลังจากได้ทราบประวัติและตรวจร่างกายแล้ว คุณแม่ก็จะต้องตรวจเลือดด้วย เพราะโรคบางอย่างอาจจะแอบแฝงอยู่โดยที่ไม่รู้ตัวก็ได้ การตรวจเลือดจะตรวจดูความเข้มข้นของเลือด กลุ่มเลือด ตรวจหาซิฟิสิส, ไวรัสตับอักเสบ, ไวรัสเอดส์ และหัดเยอรมัน ซึ่งถ้าพบมีการติดเชื้อก็จะได้รับการดูแลรักษาทันที หรือแนะนำการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ลูกในครรภ์ต่อไป 

ในตอนนี้คุณแม่ก็คงได้รับการแนะนำการปฏิบัติตัว การดูแลสุขภาพทั่วไป รวมถึงสิ่งผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าหากคุณแม่มีข้อสงสัยใด ๆให้ถามคุณหมอให้เข้าใจนะครับคุณหมอยินดีให้คำแนะนำปรึกษาอย่างเต็มที่

 

ตรวจบ่อยแค่ไหน 

ในระหว่างการตั้งครรภ์คุณหมอจะนัดคุณแม่มาตรวจเป็นระยะ ๆ โดยจะนัดทุก 4 สัปดาห์ ใน 28 สัปดาห์แรก ทุก 2-3 สัปดาห์ ในระหว่าง 28-36 สัปดาห์ และทุกสัปดาห์หลัง 36 สัปดาห์เป็นต้นไป ยิ่งครรภ์แก่ขึ้นเท่าไหร่คุณหมอก็จะนัดถี่มากขึ้น เพราะภาวะแทรกซ้อนสิ่งผิดปกติต่างๆ มักจะเกิดขึ้นในช่วงท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ ในรายที่พบมีความผิดปกติ มีภาวะแทรกซ้อนคุณหมอก็จะนัดคุณแม่มาตรวจถี่ขึ้นกว่าปกติ ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายๆไปนะครับ



สร้างภูมิคุ้มกันเผื่อลูกน้อย 

ในสมัยที่ยังตัดสายสะดือกันด้วยไม้ไผ่เหลาคมๆเครื่องมือเครื่องไม่ต่าง ๆ ยังไม่มีการอบฆ่าเชื้อโรคกันอย่างเข็มงวดเหมือนในปัจจุบัน พบว่าเด็กที่เกิดมาเป็นบาดทะยักตายกันเยอะ ต่อมาหมอตำแยก็ต้องต้มน้ำเดือดเพื่อลวกมีดหมอให้สะอาดก่อนตัดสายสะดือทุกครั้ง แต่ก็ยังมีการเสียชีวิตจากบาดทะยักไม่น้อยเลย ก็เลยต้องมาหาวิธีกันอยู่นานเพื่อเอาชนะโรคร้ายนี้ให้ได้ วิธีที่ได้ผลดี ปลอดภัย เสียค่าใช้จ่ายไม่มากก็คือ การฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักให้กับคุณแม่ ร่างกายคุณแม่ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น ภูมิที่เกิดขึ้นนี้ก็จะถ่ายทอดผ่านทางสายสะดือไปสู่ลูกในท้องได้ด้วย ทำให้ลูกมีภูมิป้องกันโรคนี้ได้ทันทีเมื่อคลอด 

ปกติแล้วก็จะฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักในไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ และจะฉีดกระตุ้นอีกครั้งหลังจากฉีดครั้งแรก 1 เดือน ในรายที่เคยฉีดวัคซีนนี้มาไม่เกิน 5 ปีก็อาจฉีดกระตุ้นเพียงเข็มเดียวก็ได้ 

สร้างภูมิให้ลูกแต่เจ็บที่แม่ เพื่อลูก ยอมได้อยู่แล้ว !

 

ยาบำรุงของแม่สิ่งจำเป็นสำหรับลูก 

ในขณะที่ลูกอยู่ในครรภ์ ลูกมีการเจริญเติบโต มีพัฒนาการ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ธาตุอาหารต่างๆมากมาย เช่น ในขณะที่ลูกมีการสร้างสมองและระบบประสาทก็ต้องอาศัยวิตามิน บี เป็นจำนวนมาก หรือในขณะที่สร้างกระดูกก็ต้องการแคลเซียมจำนวนมากเช่นกัน ในตัวคุณแม่เองในระหว่างที่มีการตั้งครรภ์ก็มีการสร้างเม็ดเลือดแดงขึ้นมากกว่าเดิม เพื่อที่จะสามารถนำอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงตัวคุณแม่และลูกน้อยได้อย่างเพียงพอ ดังนั้นร่างกายจึงต้องการธาตุเหล็กในการสร้างเม็ดเลือดเป็นอย่างมาก อาหารในชีวิตประจำวันของคุณแม่ถึงแม้จะรับประทานได้ครบถ้วนก็ยังมีแร่ธาตุ และวิตามินไม่เพียงพออยู่ดี ดังนั้นคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ก็จำเป็นที่จะต้องรับประทานยาบำรุงครรภ์ไปตลอดการตั้งครรภ์ 

เพื่อคุณภาพที่ดีของลูกในครรภ์ และเพื่อสุขภาพของตัวคุณแม่เอง คุณแม่ควรรับประทานยาบำรุงครรภ์ที่คุณหมอให้ไว้อย่างเคร่งครัดนะครับ

 

อุลตร้าซาวด์ จำเป็นแค่ไหน 

ในการตรวจครรภ์ในปัจจุบัน หมอก็จะใช้อุลตร้าซาวด์กันมากขึ้น
ตั้งแต่ท้องอ่อนๆเลยเพื่อดู ตำแหน่งการตั้งครรภ์ ดูขนาด ดูอายุครรภ์ ดูหัวใจเต้น ดูพัฒนาการ ดูการเจริญเติบโต ในช่วงแรกๆทารกในครรภ์ยังเล็กมากก็จะยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้มากนักนะครับ


เพศของทารกก็จะสามารถมองเห็นได้ในช่วงอายุครรภ์ 14-16 สัปดาห์

พออายุครรภ์ประมาณ 20 สัปดาห์ ทารกในครรภ์ก็จะตัวโตพอที่จะตรวจดูรายละเอียดต่างๆได้มากขึ้น ก็จะดูโครงสร้างของสมอง โครงสร้างของหัวใจ ช่องท้อง แต่อย่างไรก็ตามการตรวจด้วยอุลตร้าซาวด์ก็จะไม่สามารถตรวจหาความผิดปกติได้ทั้งหมดนะครับ ตรวจได้เห็นได้ประมาณ 56%ของความผิดปกติทั้งหมดเท่านั้นเอง 

การตรวจอุลตร้าซาวด์ในช่วงท้ายๆของการตั้งครรภ์ก็จะเน้นไปเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ดูเรื่อง รกเกาะต่ำ น้ำคร่ำน้อย สายสะดือพันคอ ขนาดเด็ก น้ำหนักเด็ก ส่วนนำ เพื่อพิจารณาถึงการคลอดที่จะเกิดในอนาคตอันใกล้ที่จะมาถึงด้วย

คุณแม่บางคนอาจจะกลัวว่าอุลตร้าซาวด์จะมีผลอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ แต่จากการค้นคว้าวิจัยกันมานานก็ยังไม่พบว่าอุลตร้าซาวด์มีอันตรายใดๆต่อลูกในครรภ์ หรือ ตัวแม่เองแต่อย่างไรเลยนะครับ เนื่องจากอุลตร้าซาวด์ไม่ใช่รังสี แต่เป็นคลื่นเสียงความถี่สูงที่มนุษย์ไม่สามารถได้ยินได้ มีความเข้มข้นของเสียง หรือ ความดังต่ำ จึงมีความปลอดภัยสูงเมื่อใช้ในสตรีมีครรภ์

 

การตรวจโครโมโซม 

ยุคนี้ผู้หญิงเราก้าวมาเท่าเทียมกับผู้ชายแล้ว การงานก็ไม่แตกต่างกับผู้ชาย แต่กว่าจะเรียนจบ กว่าจะทำงานตั้งเนื้อตั้งตัวกันได้ก็แก่กันพอดี ทำให้เดี๋ยวนี้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์กันตอนอายุมากมีมากขึ้น การตั้งครรภ์ตอนอายุมาก ก็จะมีผลทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการมีภาวะแทรกซ้อนมีมากขึ้น เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง 

นอกจากนั้นการตั้งครรภ์ตอนอายุมาก ตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไปในวันคลอด ก็จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะมีลูกเป็นปัญญาอ่อนเพิ่มขึ้น ยิ่งอายุมากขึ้น ความเสี่ยงนี้ก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

อายุ 30 โอกาสเสี่ยง 1/800 

อายุ 35 โอกาสเสี่ยง 1/365 

อายุ 40 โอกาสเสี่ยง 1/108 

อายุ 45 โอกาสเสี่ยง 1/33

อายุ 50 โอกาสเสี่ยง 1/12



ดังนั้นถ้าคุณแม่มีอายุมากกว่า 35 ปี ในวันคลอด คุณหมอก็มักจะแนะนำให้เจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจดูโครโมโซม โดยมากแล้วจะเจาะน้ำคร่ำกันตอนอายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์ ก่อนเจาะก็จะอุลตร้าซาวด์ดูก่อนเพื่อดูอายุครรภ์ที่แน่นอน ดูตำแหน่งการนอนของเด็ก ตำแหน่งของรก ตำแหน่งของช่องว่าที่จะแทงเข็มเข้าไปเจาะ เมื่อได้ตำแหน่งแน่นอนแล้วก็จะทายาฆ่าเชื้อโรค ฉีดยาชา ถึงจะเริ่มทำการเจาะเอาน้ำคร่ำออกมาประมาณ 20 ซีซี. ดังนั้นการเจาะน้ำคร่ำก็จะเจ็บเหมือนกับแค่ฉีดยาธรรมดาเท่านั้นเองครับ น้ำคร่ำที่เจาะได้ก็จะส่งไปห้องแล็ปปั่นแยกเอาเซลออกมาจากน้ำคร่ำ นำไปเพาะเลี้ยงจนได้ปริมาณมากพอ แล้วไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศ์อีเลคตรอน รายงานผลกับมาใน 14 วัน ระหว่างนี้ก็ต้องรอลุ้นกันหน่อยล่ะครับ 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วิวัฒนาการทางการแพทย์ก็ทำให้เราสามารถตรวจหาเซลของทารกในกระแสเลือดแม่ได้ เรียกว่า NIPT หรือบางทีเราก็เรียกว่า นิพตี้ ทำให้เราไม่จำเป็นต้องเจาะน้ำคร่ำก็ได้ แต่สามารถเจาะเลือดแม่ง่ายๆที่ข้อพับ ไม่เจ็บมากมาย ไม่มีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการแท้ง เจาะได้ในอายุครรภ์ที่เร็วกว่า คือ ตั้งแต่ 10-12 สัปดาห์เป็นต้นไป ผลได้เร็วกว่าประมาณ 1 สัปดาห์ ความแม่นยำน้อยกว่าเจาะน้ำคร่ำนิดนึง ซึ่งก็ไม่มีนัยสำคัญ  

ในช่วงแรกๆการตรวจ NIPT ยังมีราคาแพง เพราะต้องส่งไปตรวจยังต่างประเทศ แต่ปัจจุบันแลปในประเทศก็สามารถตรวจวิเคราะห์ได้แล้ว ทำให้ราคาถูกลงมาก ค่าใช้จ่ายมากกว่าเจาะน้ำคร่ำนิดนึง แต่ความเสี่ยงต่อการแท้งน้อยกว่า เจ็บตัวน้อยกว่า ได้ผลเร็วกว่า

อย่างไรก็ตามหากตรวจ NIPT แล้วพบว่าผิดปกติ ก็ต้องตรวจยืนยันด้วยการเจาะน้ำคร่ำเสมอนะครับ

 

คุณแม่มือใหม่ 

หลายๆคนเป็นคุณแม่มือใหม่ เพิ่งตั้งครรภ์ครั้งแรก ยังไม่มีประสบการณ์ของการคลอดมาก่อน คุณแม่เหล่านี้มักจะกังวลกว่า เมื่อไหร่จะมีอาการเจ็บครรภ์คลอด? อาการเจ็บครรภ์เป็นอย่างไร? คิดไปคิดมาทำให้คุณแม่บางคนถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ ความตื่นเต้น วิตกกังวลต่างๆ เกี่ยวกับการคลอดเป็นเรื่องธรรมชาติที่ว่าที่คุณแม่ทุกคนในโลกเคยประสบมาก่อน ความกังวลดังกล่าวก็จะหมดไป เหลือแต่ความรู้สึกสุขใจที่ได้พบหน้าเจ้าตัวน้อยในอีกไม่ช้า

การได้ตระเตรียมของใช้เพื่อวันสำคัญแห่งชีวิตใหม่ที่จะเกิดมาเป็นสิ่งสำคัญที่ให้ความสุขใจแก่ว่าที่พ่อแม่คนใหม่มากที่เดียว ทั้งยังสร้างความรู้สึกมั่นใจ ที่ได้เตรียมทุกอย่างพร้อมสรรพเพื่อลูกรักไว้เรียบร้อยแล้ว… คงฉุกละหุกวุ่นวายกันน่าดูนะครับถ้ามาเตรียมข้าวของเครื่องใช้เอาตอนเจ็บครรภ์ 

สำหรับตัวคุณแม่ก็ควรเตรียมของใช้ เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน หวี สบู่ ผ้าเช็ดหน้า เสื้อผ้าที่สวมใส่สบายเอาไว้ใส่ในวันกลับ ที่ไม่ควรลืมก็คือ บัตรประชาชน และบัตรประจำตัวของโรงพยาบาล 

ส่วนของใช้สำหรับเจ้าตัวเล็กสุดที่รัก ก็คือ ผ้าอ้อม เสื้อเด็กอ่อน ถุงมือ ผ้าขนหนูเอาไว้ห่อตัวตอนกลับบ้าน  ตอนอยู่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ก็จะใช้เสื้อผ้าของทางโรงพยาบาล

 

ติดต่อแพทย์ทันทีถ้าคุณมีอาการต่อไปนี้ 

มีเลือดออกทางช่องคลอด 

มีน้ำใส ๆ คล้ายปัสสาวะไหลออกทางช่องคลอด 

มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ตาพร่ามัว บวมตามหน้า มือ และเท้า 

ปัสสาวะแสบขัด ปวดหลัง มีไข้สูง 

ลูกดิ้นน้อยลงจนผิดสังเกต อย่าใจเย็นจนลูกไม่ดิ้นเลย

 

อาการเตือนก่อนการคลอด 

ในช่วงท้ายๆของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะรู้สึกว่ามดลูกมีการแข็งตัวบ่อยมากกว่าปกติ แต่ก็แข็งเฉยๆโดยไม่ได้รู้สึกเจ็บอะไรมาก การแข็งตัวของมดลูกก็มักจะแข็งเป็นครั้งๆ หรือถ้าต่อเนื่องตืดกันหลายครั้งก็จะเป็นแป๊บๆ  จะแข็งตอนมีการเกร็งหน้าท้อง โดยเฉพาะเมื่อนั่งอยู่แล้วล้มตัวลงนอน หรือนอนอยู่แล้วเกร็งตัวลุกขึ้นมานั่ง เมื่อมีอาการเจ็บเตือนแล้ว 

ให้สังเกตุอาการท้องแข็งนี้ให้ดีนะครับ ... "ยิ่งแข็งบ่อยยิ่งใกล้คลอดมาก ยิ่งแข็งห่างๆยิ่งอยู่ได้อีกนาน"

ในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์นี้ คุณแม่ก็มักจะมีอาการปวดถ่วงบริเวณหัวหน่าว หรือบางทีก็เจ็บแปล๊บๆ บางทีก็เจ็บร้าวลงมาที่หน้าขา เนื่องจากท้องลด หัวลง ...  หัวของเด็กก็จะเข้าไปกดในอุ้งเชิงกรานจนทำให้มีอาการเจ็บได้

 

เจ็บเตือนใกล้แล้วสินะ 

เมื่อใกล้กำหนดคลอด มดลูกก็จะมีการแข็งตัวบ่อยขึ้น เริ่มแข็งตัวติด ๆ กันเป็นชุด มักไม่ค่อยมีอาการเจ็บ เพียงแค่รู้สึกแน่น ๆ หน่วง ๆ เท่านั้น มดลูกแข็งตัวสัก 5-6 ครั้ง แล้วก็หายไปเอง ไม่เจ็บมากขึ้น หรือถี่ขึ้นเหมือนการเจ็บครรภ์คลอดจริง 

การเจ็บครรภ์เตือนมักเป็นบ่อยในตอนกลางคืน บางคนนอนเจ็บทั้งคืน แต่พอถึงเช้าก็หายไปเอง ช่วงนี้เลยต้องนอนลุ้นกันพอสมควร บางคนเข้าใจผิดนึกว่าเป็นการเจ็บครรภ์คลอด พอไปถึงโรงพยาบาลแล้ว ดันหายเจ็บท้องไปเฉยๆซะนี่ ต้องนอนรออีกนานกว่าจะคลอด หรือ หากตรวจแล้วปากมดลูกไม่เปิดก็จะให้กลับบ้าน เจ็บจริงๆแล้วค่อยมาใหม่

ปกติแล้วการเจ็บครรภ์เตือนจะเกิดขึ้นก่อนการเจ็บครรภ์จริงประมาณ 1 สัปดาห์

 

อาการบอกจะคลอดแล้วนะ 

หลังจากการรอคอยมานานแสนนาน เมื่อใกล้วันครบกำหนดคลอดถ้าหากคุณแม่มีอาการดังต่อไปนี้ ก็ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที 

ปวดท้อง ท้องแข็งบ่อยเป็นจังหวะ เจ็บมากขึ้น ถี่มากขึ้น 

มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด 

มีน้ำเดิน ซึ่งก็คือ น้ำคร่ำเป็นน้ำใส ๆ คล้ายปัสสาวะไหลออกมาทางช่องคลอด อาจจะมีเจ็บครรภ์ร่วมด้วยหรือไม่มีก็ได้ 

อาการเหล่านี้เป็นสิ่งบ่งบอกว่าการเจ็บครรภ์คลอดกำลังเริ่มต้นแล้ว อีกไม่นานเจ้าตัวน้อยก็พร้อมที่จะออกมาให้คุณแม่ได้เชยชมแล้ว 

เมื่อเริ่มมีอาการเจ็บครรภ์ มดลูกจะมีการหดตัวแข็งเป็นพักๆ เริ่มแรกจะมีอาการปวดคล้ายปวดประจำเดือน ร่วมกับมีอาการปวดหลัง หลังจากนั้นก็จะคลายตัวลง เวลาคลำหน้าท้องจะรู้สึกว่ามดลูกนุ่มลงเป็นปกติ ระยะแรกมดลูกจะหดแข็งตัวห่าง ๆ แล้วก็จะแข็งตัวถี่ขึ้นเรื่อย ๆ จนแข็งตัวทุก 3 นาที แต่ละครั้งแข็งนานประมาณ 30-45 วินาที 

เมื่อคุณแม่แน่ใจแล้วว่าจะมีการคลอดเกิดขึ้นในไม่ช้าก็ไม่ควรรีรออะไรเลยนะครับ ควรรีบไปให้ถึงโรงพยาบาลในทันที ถึงโรงพยาบาลแล้วสบายใจครับ ยิ่งเดี๋ยวนี้รถติดเป็นตังเมคุณแม่ควรรีบเตรียมเผื่อเวลาเอาไว้ด้วย ดีไม่ดีเดี๋ยวจะไปไม่ถึงโรงพยาบาล 

 

ถึงโรงพยาบาลแล้ว 

เมื่อมาถึงโรงพยาบาลแล้ว เจ้าหน้าที่จะให้คุณแม่นั่งเก้าอี้เข็นส่งไปห้องรอคลอดแป๊ปเดียวก็ถึงห้องคลอดแล้ว 

เมื่อถึงห้องคลอด คุณพยาบาลประจำห้องก็จะให้คุณแม่เปลี่ยนเสื้อผ้ามาสวมเสื้อของทางโรงพยาบาลแทน คุณแม่ควรถอดของมีค่าต่างๆฝากสามี หรือญาติเก็บรักษาไว้ก่อนเข้าห้องคลอด เพื่อป้องกันการสูญหายในระหว่างการคลอด ตอนอยู่โรงพยาบาลไม่ต้องแต่งสวยมากก็ได้ 

หลังจากแต่งตัวเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้ว ก็จะได้รับการตรวจวัดความดัน วัดชีพจร วัดอุณหภูมิร่างกาย ชั่งน้ำหนัก ตรวจร่างกาย ตรวจสุขภาพของลูกในครรภ์ อัตราการเต้นของหัวใจ ท่าการนอนของลูก ตรวจส่วนนำดูอีกครั้งว่าลูกเอาหัวลงหรือเปล่า

ในระหว่างนี้คุณแม่ก็จะได้รับการทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธ์ภายนอกด้วย ส่วนใหญ่แล้วจะโกนขนที่อวัยวะสืบพันธ์ภายนอกด้วย เพื่อความสะดวกในการทำคลอดและการเย็บแผลอีกทั้งยังทำให้สามารถดูแลทำความสะอาดได้ง่ายอีกด้วย 

นอกจากนั้นคุณแม่ต้องสวนอุจจาระ ให้ถ่ายออกมาจนหมดเกลี้ยง เพราะในระหว่างการเบ่งคลอดจะได้เบ่งให้ลูกคลอดออกมาเพียงอย่างเดียว ตอนเบ่งคลอดคุณแม่จะรู้สึกเหมือนอยากถ่ายอุจจาระมาก ถ้าไม่ได้สวนก่อน หรือ สวนไม่เกลี้ยง ก็มักมีจะมีอุจจาระเล็ดลอดออกมาพร้อมๆ กับลูกเสมอ ทำให้เลอะเทอะเปรอะเปื้อน ติดที่หัวของลูก  หรืออาจจะไปโดนแผลฝีเย็บทำให้เกิดการอักเสบได้ 

การสวนอุจจาระก่อนก็ยังช่วยให้หมอรู้สึกปลอดภัย เพราะในระหว่างที่คุณแม่เบ่ง คุณหมอก็ต้องนั่งทำคลอดอยู่ตรงกลางระหว่างขา ถ้าคุณแม่เบ่งแล้วมีอุจจาระออกมา 

หากอุจจาระแข็งเป็นแท่ง  คุณแม่ก็มักจะขมิบก้น แล้วอุจจาระก็มักจะหักหล่นลงถังเอง

หากอุจจาระออกมาเป็นลม  ก็คงเป็นลมตดแหละ หมอก็ต้องนั่งทนดมอยู่ตรงนั้น น่าสงสาร

แต่ที่โชคร้ายที่สุด คืออุจจาระออกมาเป็นน้ำ คุณแม่เบ่งแล้วมันจะพ่นกระจาย หมอนั่งตรงนั้นต้องหงายท้องหลบสวยๆให้ทันก็แล้วกัน


รอคลอดใกล้แล้วนะสำหรับสมาชิกใหม่ 

ในระหว่างที่อยู่ในห้องคลอด หรือ ที่เรียกว่า รอคลอดนี้ มดลูกจะมีการบีบรัดตัวเป็นระยะๆ เพื่อผลักดันให้ ศีรษะของลูกเลื่อนต่ำลงมาเรื่อยๆ ปากมดลูกก็จะถูกถ่างขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ ค่อยเป็นค่อยไปช้าๆ 

ตามปกติแล้วปากมดลูกจะเปิดขยายกว้างขึ้นชั่วโมงละ 1 เซนติเมตรในท้องแรกและชั่วโมงละ 1.5 เซนติเมตรในท้องสอง ...จนปากมดลูกเปิดหมด หรือ เปิดกว้าง 10 เซนติเมตร ศีรษะของเด็กก็จะผ่านปากมดลูกออกมาตุงอยู่ในช่องคลอด รอเวลาให้คุณแม่แสดงฝีมือเบ่งออกมาเองเดี๋ยวก็ได้เจอกันแล้วสินะ 

ระหว่างที่คุณแม่เจ็บครรภ์ คุณหมอ คุณพยาบาล ก็จะมาตรวจครรภ์ มาคอยให้กำลังใจเป็นระยะ ๆ ถ้าหากตรวจพบว่ามดลูกมีการบีบรัดตัวไม่ดีซึ่งจะมีผลทำให้การคลอดเนิ่นนานออกไป ก็จะช่วยโดยให้น้ำเกลือที่มียาช่วยเร่งคลอดผสมอยู่ ปกติแล้วมดลูกก็จะมีการบีบรัดตัวทุก 2-3 นาที แต่ละครั้งประมาณ 30-45 วินาที การบีบตัวของมดลุกแต่ละครั้งก็จะทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บได้เจ็บจริง ๆ นะจะบอกให้

 

เจ็บมากทำยังไงดี ? 

เมื่อมดลูกมีการบีบรัดตัวมากขึ้น เริ่มแรกจะมีอาการปวดเหมือนปวดประจำเดือน ปวดบีบถ่วงๆ ร้าวไปที่หลัง อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ แรกๆ ก็พอทนไหว..แต่นานๆ เข้าก็ชักจะไม่ไหวเหมือนกันแล้วละ 

ตามปกติแล้วคุณแม่ที่ร่างกายแข็งแรงบึกบึน ออกกำลังกายอยู่เสมอเป็นประจำ หรือต้องทำงานหนักติดต่อกันมาเป็นเวลานานก็มักจะทนต่อความเจ็บปวดได้ดี คือ ค่อนข้างอึดนั่นเอง 

ส่วนคุณแม่ที่รูปร่างบอบบางไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ไม่ค่อยได้ทำงานหนัก ทำงานสบาย ๆ ก็มักจะมีความอดทนต่ำ ทนความปวดได้ไม่ค่อยดีนัก แล้วถ้าปวดมากทำยังไงดีล่ะ

 

ลดความปวดด้วยวิธีธรรมชาติ 

วิธีนี้คุณแม่ต้องมีความแน่วแน่มากๆ มีความอดทน และเชื่อมั่นในความอดทนของตัวเองก่อนอื่นคุณแม่ควรหาท่านอนที่รู้สึกสบายและปวดน้อยที่สุดก่อน เมื่อนอนได้รู้สึกสบายแล้วร่างกายก็จะรู้สึกผ่อนคลาย โดยมากท่านอนตะแคงจะทำให้รู้สึกสบายมากที่สุด อีกทั้งการนอนในท่านี้มดลูกก็จะไม่ไปกดทับเส้นเลือด อันจะไปมีผลทำให้ความดันโลหิตลดลง เลือดไปเลี้ยงลูกในครรภ์น้อยลง ทำให้เด็กขาดออกซิเจนได้ 

เมื่อมีการหดรัดตัวของมดลูก เริ่มมีอาการปวดคุณแม่ควรหายใจเข้าตื้นสั้น หายใจออกทางปากยาวๆ ต่อเนื่องเป็นจังหวะสม่ำเสมอพยายามเพ่งความรู้สึกไปที่การหายใจเท่านั้น อีกไม่นานก็จะหายปวดท้องแล้ว พอมดลูกเริ่มคลายตัวก็หายใจยาวๆ ลึกๆ ฟอกอากาศเก็บพลังงานให้กับร่างกายสะสมออกซิเจนเอาไว้สำหรับลูก รอจนมีการเจ็บครรภ์ครั้งต่อไปก็เริ่มหายใจแบบเดิมสับเปลี่ยนกันไปเรื่อย ๆ 

กำลังใจมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ดังนั้นในโรงพยาบาลที่อนุญาตให้คุณพ่อเข้าไปอยู่ด้วยในห้องคลอดได้ คุณพ่อก็ควรทำหน้าที่ ว่าที่คุณพ่อให้เต็มที่ รักกันแค่ไหนก็เห็นกันตอนนี้เองครับ 

เมื่อคุณแม่มีอาการปวดหน่วงที่บริเวณหลัง คุณพ่อก็ควรช่วยถูนวดโดยใช้ปลายของฝ่ามือชโลมด้วยเบบี้ออยด์กดลงที่บริเวณกระดูกก้นกบแล้วถูนวดขึ้นลงตลอดเมื่อมีอการเจ็บครรภ์ ระหว่างนี้ก็คอยให้กำลังใจ คอยให้ความช่วยเหลือ คอยเอาผ้าชุบน้ำคอยเช็ดหน้าเช็ดตาให้คุณแม่สดชื่นดูมีเรี่ยวมีแรงสักหน่อย ตอนนี้คุณแม่ต้องมีหน้าที่อันหนักหนาสาหัส คุณพ่อต้องเอาใจมากๆหน่อย แล้วการคลอดก็จะสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ซึ่งก็จะทำให้ทั้งคุณพ่อและคุณแม่รู้สึกภูมิใจที่ได้ร่วมแรงฝ่าฟันผ่านวันแห่งความสุขวันแห่งความทรงจำอันนี้มาได้ ลูกที่เติบโตขึ้นทุกวันก็คือ ประกาศนียบัตรแห่งความสำเร็จในวันคลอดนั่นเอง

 

การใช้ยาฉีดแก้ปวด 

ถ้าหากว่าคุณแม่มีอาการปวดมาก ถึงแม้ว่าจะพยายามทนพยายามควบคุมความเจ็บปวดโดยวิธีธรรมชาติ แต่ก็ยังคงมีอาการปวดจนไม่สามารถทนได้แล้ว ถึงตอนนี้ก็อาจจะต้องพึ่งยาแก้ปวดแล้ว 

ยาแก้ปวดที่ใช้กันมากสำหรับบรรเทาอาการเจ็บครรภ์ส่วนใหญ่ก็จะใช้ยาที่ชื่อว่า เพ็ตติดีนซึ่งเป็นยาอนุพันธ์กับมอร์ฟีน แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่าและกดการหายใจน้อยกว่า สามารถช่วยลดความเจ็บปวดได้ดี ยาสามารถใช้ฉีดเข้ากล้าม หรือ ฉีดเข้าเส้นเลือดก็ได้ ถ้าฉีดเข้ากล้ามจะออกฤทธิ์ช้ากว่า โดยจะเริ่มรู้สึกปวดน้อยลงเมื่อ 20 นาทีหลังฉีด ออกฤทธิ์เต็มที่ 1 ชั่วโมง และจะหมดฤทธิ์ประมาณ 3 ชั่วโมง ส่วนการฉีดเข้าเส้นเลือดจะออกฤทธิ์ได้เร็ว หายปวดเร็ว แต่ก็หมดฤทธิ์เร็วเหมือนกัน 

ในกรณีที่เป็นการฉีดเข้าเส้นเลือด ยาจะออกฤทธิ์ทันที ทำให้มีอาการง่วงนอน เวียนหัวคุณแม่ควรหลับตา หายใจยาวๆ ทำตัวให้สบายผ่อนคลายให้เต็มที่ อย่าพยายามฝืนเพราะยิ่งฝืนก็จะยิ่งทำให้เวียนหัวมากขึ้น ถ้าคุณแม่ปล่อยตัวตามสบาย ก็จะหลังไปเองอย่างมีความสุข อาการปวดก็ทุเลาลง 

 

เบ่งคลอดช่วงเวลาสำคัญของความเป็นแม่

ตอนนี้แหละครับที่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิตของความเป็นแม่ เมื่อคุณแม่เจ็บครรภ์ถี่ปากมดลูกเปิดหมดเต็มที่แล้ว คุณแม่จะมีอาการปวดถ่วงลงมาที่ก้นเป็นอย่างมาก มีความรู้สึกปวดเหมือนกับอยากจะถ่ายอุจจาระ อันนี้แหละครับที่เขาเรียกกันว่า มีลมเบ่ง” 

คุณพยาบาลจะช่วยย้ายคุณแม่จากห้องรอคลอดเข้าสู้ห้องคลอดคราวนี้ก็ถึงตอนที่คุณแม่จะได้แสดงฝีมือกันได้เต็มที่ 

เตียงคลอดส่วนใหญ่ก็จะจัดท่าให้คุณแม่นอนแยกขาออกกว่างวางอยู่บนขาหยั่ง ตอนนี้ไม่ต้องอายหลอกครับ ยิ่งแยกขาออกกว้างเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้สามารถคลอดไดง่ายขึ้นเท่านั้น ถ้าหากคุณแม่มัวแต่นอนหนีบขาอยู่ตลอดทางออกยิ่งแคบ ลูกก็ออกมาดูโลกภายนอกลำบากขึ้น แถมยังทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บมากขึ้นด้วย 

ถึงตอนนี้แล้วมดลูกก็จะมีการบีบรัดตัวถี่กระชั้นขึ้น ระหว่างที่มดลูกบีบรัดตัวคุณแม่จะมีลมเบ่ง ให้คุณแม่สูดหายใจเข้าไปยาว ๆ ลึก ๆ เต็มที่แล้วกลั้นลมหายใจไว้ ก้มหน้าลงให้คางชิดอก โน้มตัวไปข้างหน้า ออกแรงเบ่งให้แรงเบ่งทั้งหมดลงไปทางปากช่องคลอด ในขณะที่เบ่งก็ควรเบ่งยาว ๆ ต่อเนื่องกัน ซึ่งในตอนนี้คุณพยาบาลกองเชียร์ทั้งหลายก็จะคอยช่วยออกเสียงให้คุณแม่เบ่งตาม เบ่งแต่ละครั้งลูกก็เลื่อนต่ำลงมาเรื่อย ๆ ทีละนิดทีละหน่อย เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของลูกที่เดียว แม่ก็คอยจดจ่อที่จะได้เห็นหน้าลูกที่เกิดขึ้นในไม่ช้านี้ ลูกเองก็อยากรู้ว่าโลกภายนอกนั้นเป็นอย่างไร แม่ที่ลูกเคยได้ยินเสียงทุกวันอย่างคุ้นเคยหน้าตาเป็นอย่างไร จนในที่สุดจากความพยายามของคุณแม่เบ่งยาว ๆ ไม่กี่ครั้ง ลูกที่เฝ้ารอคอยก็พร้อมที่ออกมาร้องอู้แว้ให้แม่ชื่นใจแล้ว ตอนที่ศีรษะของลูกกำลังโผล่ออกมาร คุณหมอก็จะฉีดยาชาแล้วตัดฝีเย็บเพื่อขยายให้ปากช่องคลอดให้กว้างขึ้น เพื่อให้ลูกสามารถผ่านพ้นออกมาได้ง่ายขึ้น ป้องกันไม่ให้ช่องคลอดยืดขยายมากจนเกินไปและป้องกันไม่ให้เกิดการฉีกขากยากแก่การเย็บซ่อมแซมให้เหมือนเดิน 

สิ่งที่ผิดพลาดของว่าที่คุณแม่ที่พบได้บ่อย ๆ ก็คือ การเกิดวงจร กลัว-เกร็ง-เจ็บ เมื่อเริ่มมีอาการเจ็บครรภ์คุณแม่หลาย ๆ คนก็อาจจะมีความกลัว ความกังวล กลัวเจ็บ กลัวว่าจะคลอดไม่ได้ ความกลัวก็จะทำให้แม่รู้สึกเกร็งได้ยากขึ้น ยิ่งเกร็งก็ยิ่งเจ็บ ยิ่งเจ็บก็ยิ่งกลัว ยิ่งกลัวก็ยิ่งเกร็ง เป็นวงจรไม่สิ้นสุด คุณแม่ควรทำใจให้สบาย คิดถึงแต่ว่าเราจะได้เจอคนที่เราเฝ้ารอคอยมานานแสนนานในไม่กี่นาทีข้างหน้า ทำตัวให้สบาย ผ่อนคลายให้เต็มที่ ก็จำสามารถผ่านพ้นการคลอดไปได้ไม่ยากนัก ยิ่งถ้าคุณแม่ไม่ได้รับการฝึกหัดเตรียมพร้อมมาก่อนยิ่งจะสามาระทำได้ดีขึ้น 

ข้อผิดพลาดอีกกรณีหนึ่งก็คือ เบ่งไม่เป็นโดยเฉพาะในคุณแม่ท้องแรกก็ไม่เคยเบ่งอย่างนี้มาก่อนนี่ การเบ่งไม่ถูกวิธีจะทำให้เสียแรงไปเปล่าๆ รู้สึกเหนื่อยได้ง่าย ลูกก็ไม่ได้เคลื่อนตัวต่ำลงมาเลยจากการเบ่งคุณที่เบ่งไม่เป็นจะเบ่งสั้นๆ อื้ด..อื้ด..เบ่งๆ หยุดๆ เป็นช่วงๆ พอออกแรงเบ่งหัวเด็กก็ถูกดันออกมาที พอหยุดก็ถอยกลับไปที่เดิม ผลุบๆ โผล่ๆ อยู่ไม่ออกซะทีอย่างนี้เหนื่อยเปล่า 



การเบ่งที่ถูกวิธีต้องดทำตามลำดับดังนี้ :- 

รอเวลา พอมดลูกเริ่มมีการแข็งตัวให้คุณแม่สูดหายใจยาว ๆ สึก ๆ เข้าให้เต็มปอด 

พอมดลูกมีการแข็งตัวเต็มที่ ให้ก้มหน้าคางชิดอก มือจัดยึดเตียงไว้ดึงเข้าหาตัว แล้วเริ่มเบ่งโดยพยายามเบ่งลมไปทีก้นเหมือนกำลังถ่ายอุจจาระ ขณะที่เบ่งให้เบ่งยาว ๆยาวที่สุดเท่าที่เบ่งได้ คุณพยาบาลจะคอยให้เสียงเชียร์เบ่ง อื้ด..อื้ดดดดด ยาว ๆ หากรู้สึกหมดลมเบ่งก่อนแต่มดลูกยังคงแข็งตัวอยู่ก็ให้หยุดเบ่งชั่วขณะแล้วสูดลมหายใจเข้าไปใหม่สั้น ๆ เร็ว ๆ แล้วเบ่งต่อจนมดลูกคลายตัว 

ในช่วงที่เบ่งคุณแม่ต้องหุบปากให้สนิทอย่าให้มีเสียงเล็ดลอดออกมาทางปาก หากเบ่งไปอ้าปากร้องไปก็จะไม่มีลมเบ่ง ลมเบ่งมันออกไปกับเสียงร้องของคุณแม่หมดแล้ว 

เมื่อมดลูกคลายตัวแล้วคุณแม่ควรหายใจยาวๆ ผ่อนคลายให้สบาย พยายามเก็บสะสมพลังงานเอาไว้สำหรับการเบ่งครั้งต่อไป 

ในขณะที่เบ่งคุณแม่ควรแยกขาออกให้มากที่สุด ตั้งตัวให้ตรงอย่าบิดไปบิดมา ซ้อนก้นขึ้นเล็กน้อยเพื่อที่กระดูกหัวหน่าวจะได้ยกขึ้นพ้นจากแนวการเคลื่อนตัวของหัวลูก ที่สำคัญในระหว่างการคลอดคุณแม่ต้องตั้งสติให้ดี ตั้งใจในการเบ่ง ทำตัวให้สงบไว้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คุณแม่บางคนอาจมีอาการหลุดโลก เอะอะโวยวาย ซึ่งก็มักที่จะทำให้อะไรมันยากขึ้นเสมอ 

เมื่อเบ่งจนหัวของลูกโผล่ออกมาจนหมดแล้ว ให้หยุดเบ่งหายใจยาวๆ ในช่วงนี้คุณหมอก็จะใช้ลูกยางดูดน้ำคร่ำและเมือกต่างๆ ออกจากปากและจมูกของลูก เสร็จแล้วก็จะช่วยทำคลอดไหล่ ในจังหวะนี้บางทีคุณหมออาจให้คุณแม่ช่วยเบ่งอีกที 

นับจากวินาทีนี้เองที่ความเป็นแม่ได้เริ่มต้น เมื่อได้ยินเสียงลูกร้องเป็นครั้งแรก สีหน้าของคุณแม่ทุกคนก็เปี่ยมล้นไปด้วยความดีใจ สุขใจ ภูมิใจในสิ่งที่เราได้สร้างออกมาด้วยตัวเอง หลายคนอาจจะร้องไห้น้ำตาไหลพรากร้องไปเถอะครับไม่ต้องอายทุกคนต่างก็รับรู้ถึงความดีใจที่คุณแม่ได้กลั่นออกมาเป็นหยดน้ำตานี้ 

หลังตากลูกได้คลอดออกมาแล้ว กุมารแพทย์จะช่วยดูแลต่อโดยจะดูดน้ำคร่ำ น้ำเมือกออกจากปากจากคอให้หมดอีกที เช็ดตัวให้แห้งเดี๋ยวเด็กจะหนาว ห่อตัวเด็กเรียบร้อยแล้วก็จะนำมาให้แม่ได้ชื่นใจอีกที 

ในระหว่างนี้คุณหมอก็จะทำคลอดรก อาจจะรู้สึกอึดอัดบ้างตอนที่คุณหมอกดที่ท้องน้อยเพื่อให้รกลอกตัว เมื่อรกคลอดแล้วคุณหมอก็จะเย็บแผลให้เข้าที่เหมือนเดิม เดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่ก็จะเย็บแผลด้วยไหมละลายซึ่งจะดีที่ว่าไม่ต้องเสี่ยเวลากลับมาให้คุณหมอตัดไหมอีกที

  

เมื่อการคลอดมีปัญหา 

สำหรับคุณแม่บางคนซึ่งในระหว่างการคลอดอาจพบมีภาวะผิดปกติ เช่น ทารกอาจมีภาวะขาดออกซิเจน หัวใจเต้นช้าลงกว่าปกติอันจะเกิดอันตรายได้ หรือคุณแม่ได้ออกแรงเบ่งมานานแสนนานแล้วก็ยังไม่ออกสักที ในกรณีนี้คุณหมออาจจะช่วยอีกแรงโดยใช้เครื่องดูดสูญญากาศ หรือใช้คีมช่วยคลอด ซึ่งก็จะช่วยให้คลอดได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ 

แต่ในบางกรณี เช่น รกเกาะต่ำ มีเลือดออกมามาก เชิงกรานของคุณแม่มีขนาดเล็กเกินไป หรือเจ้าตัวน้อยมีขนาดใหญ่ไปจนออกไม่ได้ ปากมดลูกไม่ขยายกว้างขึ้นมากกว่าเดิมเมื่อถึงตอนนี้คุณหมดก็อาจแนะนำให้ทำการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องลูกก็จะได้ออกมาสู่โลกภายนอกได้สมใจ

 

หนทางอีกยาวไกล 

วันคลอดของแม่ หรือวันเกิดของลูก นับเป็นวันที่สำคัญที่สุดของทั้งแม่และลูกเป็นวันที่คุณแม่ได้ทำหน้าที่อย่างแรกที่สุดของการเป็นแม่ เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นแม่ หนทางของความเป็นแม่ยังอีกยาวไกลนัก เมื่อกลับมามองย้อนถึงวันนี้ วันที่ได้คลอดลูกให้กำเนิดเขาออกมา น้ำตาของความเป็นแม่อาจจะไหลรินอีกครั้งก็ได้

 

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม