Beta-hCG ปฐมบทของการตั้งครรภ์

 



คุณแม่ส่วนใหญ่คงได้เคยอ่าน เรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในระหว่างการตั้งครรภ์กันมาแล้ว 

ในส่วนของร่างกายนั้น คุณแม่สามารถรับรู้ รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ สามารถปฏิบัติตัว ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ ... 

แต่ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่คุณแม่ยังไม่เคยรู้จักมาก่อน นั่นก็คือ 
“การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างการตั้งครรภ์”  

เรื่องฮอร์โมนเป็นเรื่องที่ยากที่จะเข้าใจ แต่ถ้ารู้เรื่องเข้าใจมันแล้ว ก็จะทำให้เข้าใจในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้ดียิ่งขึ้น          

 

ถ้าร่างกายของคุณแม่ มดลูก รังไข่ อวัยวะสืบพันธุ์ทั้งหลายแหล่ เปรียบได้กับ Hardware

ฮอร์โมนก็จะเปรียบเหมือนกับ Software ที่คอยควบคุมกำกับดูแลการเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง   ตั้งแต่การควบคุมให้เยื่อบุมดลูกหนาขึ้น เพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อน ...

พอตัวอ่อนฝังตัวแล้ว รกที่เกิดขึ้นก็จะสร้างฮอร์โมนออกมาไปควบคุมรังไข่ ซึ่งแต่เดิมรังไข่จะถูกควบคุมโดยต่อมใต้สมอง  แต่พอตั้งครรภ์ ฮอร์โมนจากรกก็จะไปยึดอำนาจสั่งการทุกอย่างแทน  ควบคุมรังไข่ ซึ่งรังไข่ก็เปรียบเสมือนศูนย์บัญชาการในการควบคุมระบบสืบพันธุ์ทั้งหมดในระหว่างตั้งครรภ์

 

ฮอร์โมนตัวแรกที่เราจะมารู้จักกัน มีชื่อว่า “hCG” รู้จักกันแค่ชื่อย่อก็พอนะครับ เพราะชื่อเต็มมันยาวมากๆๆๆ Human Chorionic Gonadotropin เขียนชื่อทีเดียวหมดไปครึ่งบรรทัดแล้ว  ฮอร์โมนตัวนี้ถือว่าเป็นเจ้าพ่อของฮอร์โมนทั้งหมด คือ ถ้าไม่มีฮอร์โมนตัวนี้ ฮอร์โมนตัวอื่นๆก็ไม่มีทางได้เกิดตามมา การตั้งครรภ์ก็จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ มนุษย์ก็จะสูญพันธุ์ไปในที่สุด

มนุษยชาติเป็นหนี้บุญคุณฮอร์โมนตัวนี้มากทีเดียว

 

ก่อนหน้านี้ต่อมใต้สมองจะสร้างฮอร์โมนไปควบคุมรังไข่ 

รังไข่จะสร้างฮอร์โมนไปควบคุมมดลูก ทำให้มีประจำเดือนออกมาเป็นรอบ หากไม่มีการตั้งครรภ์รอบนั้นก็จะจบลงด้วยการมีประจำเดือนมา  

สำหรับเจ้าhCG ตอนเราเกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ก็จะยังไม่มีฮอร์โมนตัวนี้  แต่งงานแล้วก็ยังไม่มี จนเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการปฏิสนธิ มีการสร้างตัวอ่อน มีการสร้างรก แล้ว “รก”ฝังตัวเมื่อไหร่เมื่อนั้น..ก็จะตรวจพบฮอร์โมนตัวนี้ทันที แม้ว่ารกตอนนั้นจะมีขนาดเป็นจุดเล็กนิดเดียว ฮอร์โมนจากจุดเล็กๆตัวนี้แหละก็จะไปยึดอำนาจการสั่งการทั้งหมด ไปควบคุมทำให้รังไข่สร้างฮอร์โมนออกมาอย่างต่อเนื่อง และมีปริมาณมากขึ้น  ฮอรโมนในระหว่างที่ตั้งครรภ์จะสูงประมาณ 300เท่าของตอนที่ไม่ตั้งครรภ์เลยล่ะครับ 

คุณแม่บางคนหากเคยกินยาคุมมาก่อน ก็จะรู้ว่าบางคนกินยาคุมก็รู้สึกเฉยๆ ไม่มีอาการอะไรที่ผิดปกติ แต่บางคนพอกินยาคุมปั๊บก็จะมีอาการคลื่นใส้อาเจียนทันที  ตอนท้องก็เหมือนกันเปี๊ยบเลยครับ พอฮอร์โมนสูงขึ้นคุณแม่บางคนที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ก็จะมีอาการแพ้ท้องเกิดขึ้นตามมา 

หลังจากมีการตกไข่และมีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ไข่ที่ถูกผสมแล้วก็จะลอยผ่านท่อนำไข่ไปสู่โพรงมดลูก และฝังตัวประมาณ 7 วันหลังปฏิสนธิ .. เราจึงเริ่มตรวจพบออร์โมน hCGนี้ได้นับตั้งแต่นั้นมา 

ฮอร์โมนนี้จะเพิ่มขึ้นในกระแสเลือดอย่างรวดเร็ว เพิ่มขึ้น2เท่าใน2วัน และจะสูงสุดตอนที่ตั้งครรภ์ได้ 8-10 สัปดาห์ นั่นก็เลยทำให้คุณแม่มีอาการแพ้ท้องหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยมาแพ้หนักสุดที่ตอน 9 สัปดาห์..ที่แพ้ท้องหนักๆก็เพราะเจ้า hCG นี้นี่เอง  หลังจากนั้นพอถึง 12 สัปดาห์ฮอร์โมน hCG ก็จะเริ่มลดลง พอถึง16สัปดาห์ฮอร์โมนนี้ก็จะคงที่ในระดับต่ำๆไปตลอดการตั้งครรภ์  

ดังนั้นคุณแม่ที่แพ้ท้อง หลังจากแพ้มาอย่างหนักตอน 9 สัปดาห์ พอฮอร์โมน hCG ลดลง อาการแพ้ท้องก็จะน้อยลงตามไปด้วย ปกติแล้วอาการแพ้ท้องจะหายไปตอน 14 สัปดาห์ แต่บางคนก็อาจมีอาการแพ้ท้องนิดๆ เป็นๆหายๆไปตลอดการตั้งครรภ์ก็ได้


 

แต่ก็มีบางกรณีที่ทำให้มีปริมาณฮอร์โมน hCG สูงมากกว่าปกติ เช่น ตั้งครรภ์แฝด ครรภ์ไข่ปลาอุก กรณีเหล่านี้คุณแม่ก็อาจมีอาการแพ้ท้องมากกว่าปกติด้วยเช่นกัน   

แต่ก็มีบางกรณีที่ตรวจพบว่าฮอร์โมนตัวนี้มีระดับต่ำกว่าปกติ มีอัตราการเพิ่มขึ้นน้อยกว่าปกติที่คาดหวังไว้ ก็จะพบได้ในรายที่มีการตั้งครรภ์ที่ไม่สมบูรณ์  การตั้งครรภ์นอกมดลูก 


เมื่อมีการตั้งครรภ์ ... เซลที่ปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนก็จะมาจากฝ่ายพ่อครึ่งนึง ฝ่ายแม่ครึ่งนึง เซลของตัวอ่อนจึงมีความแตกต่างจากเซลของแม่ เมื่อมีการฝังตัว ร่างกายของแม่ก็จะมองเห็นตัวอ่อนเป็นสิ่งแปลกปลอม ก็จะส่งเม็ดเลือดขาว ส่งระบบภูมิต้านทานไปทำลาย ... 

แล้วพระเอกขี่ม้าขาวก็มาช่วย ก็เจ้าฮอร์โมน hCG ของเรานี่เองครับที่จะเป็นตัวกดการต่อต้านของร่างกาย ทำให้มดลูกยอมรับการฝังตัวของตัวอ่อน และเมื่อการตั้งครรภ์โตขึ้น เจ้าฮอร์โมน hCG ตัวเดิมนี่เองก็จะไปกระตุ้นรังไข่ให้สร้างฮอร์โมน Relaxin ซึ่งชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่ามันมีหน้าที่ทำให้มดลูกขยายคลายตัว จากมดลูกแข็งๆอันเท่าไข่ไก่ มาขยายจนโตเท่าลูกแตงโมก็เพราะเจ้า hCG นี้แหละ

 

คุณแม่หลายคนก็คงจะไม่รู้ว่าคนท้องอย่างเราได้เห็น ได้สัมผัสเจ้าฮอร์โมน hCG นี้มาตั้งแต่ต้นเลยทีเดียว นั่นก็คือเวลาที่คุณแม่ใช้ที่ตรวจปัสสาวะทดสอบการตั้งครรภ์ มันก็คือการตรวจหาฮอร์โมน hCG ที่ขับออกมาทางปัสสาวะนั่นเอง  

ปกติแล้วหากคุณแม่ตั้งครรภ์ 

จะตรวจการตั้งครรภ์ในปัสสาวะให้ผลบวกเพียงแค่20%ในวันที่ประจำเดือนขาด 

ตรวจพบ 50%ใน 1 สัปดาห์หลังประจำเดือนขาด  

และตรวจพบ100%หากประจำเดือนขาดได้ 2 สัปดาห์  

การตรวจปัสสาวะทดสอบการตั้งครรภ์ก็ควรตรวจโดยใช้ปัสสาวะแรกของวันนั้น ซึ่งจะมีปริมาณความเข้มข้นของฮอร์โมนออกมามากที่สุด  หลังจากกินน้ำ กินอาหารไปแล้ว ปัสสาวะก็จะเจือจางลง  ก็จะตรวจพบการตั้งครรภ์ได้น้อยลง

ดังนั้นคุณแม่บางคนก็อาจมีปัญหาว่า ตรวจครั้งแรกไม่เจอ ต้องตรวจหลายครั้งถึงจะพบว่าตั้งครรภ์   แต่ในปัจจุบันชุดตรวจการตั้งครรภ์รุ่นใหม่ๆอาจตรวจพบการตั้งครรภ์ได้ไวขึ้นกว่าเดิม

 

หากต้องการความไว ความแน่นอน การตรวจเลือดหาฮอร์โมน hCG จะได้ผลเร็วกว่า แม่นยำกว่า บางทีประจำเดือนยังไม่ทันจะขาดเลยก็ตรวจเจอแล้วครับ..


 

ตัวชุดตรวจการตั้งครรภ์สำเร็จรูป เดี๋ยวนี้แพ๊กเกจรูปร่างหน้าตาค่อนข้างสวย ... เวลาคุณแม่ตรวจพบว่าตั้งเองตั้งครรภ์ก็จะดีใจกับมันสักแป๊บนึง เสร็จแล้วก็โยนมันทิ้งถังขยะ...??

ผมมักจะบอกกับคนไข้ว่า เจ้าแท่งที่ตรวจปัสสาวะนี้แหละควรเก็บไว้เป็นที่ระลึก เป็นของสะสมที่สำคัญของตระกูลเลยล่ะ เอามาเจาะรู้ ร้อยทำพวงกุญแจ แขวนกับหูกระเป๋าหลุยส์ เดินไปไหนคนเห็นก็จะเดินเข้ามาทักแสดงความยินดี โดยที่เราไม่ต้องไปเหนื่อยบอกใครว่าเราท้องซะแล้ว และที่สำคัญมันก็จะเป็นเครื่องเตือนใจว่า ตอนนี้ชีวิตเราเปลี่ยนไปแล้วนะ เราจะดูแลการตั้งครรภ์ให้ดีที่สุด ดูแลลูกที่เกิดมาอย่างดีที่สุดและที่สำคัญจะได้ระลึกถึงเจ้าฮอร์โมน hCG ที่ติดอยู่ตรงเจ้า 2 ขีดตรงนั้น ว่าหากไม่มี hCG มนุษย์เราก็คงสูญพันธุ์หมดโลกนี้ไปนานแล้ว/.

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม